เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
(นาคกาณาริฏฐะ กล่าวถ้อยคำที่ผิดว่า)
[905] พี่สุโภคะ ยัญและพระเวททั้งหลายในโลก
ที่พวกพราหมณ์ประกอบขึ้น มิใช่ของเล็กน้อย1
เพราะฉะนั้น ผู้ติเตียนพราหมณ์ผู้ที่ไม่ควรติเตียน
ชื่อว่าย่อมละเลยทรัพย์เครื่องปลื้มใจและธรรมของสัตบุรุษ
[906] พวกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
พวกกษัตริย์ปกครองแผ่นดิน
พวกแพศย์ยึดเกษตรกรรมและพวกศูทรยึดการรับใช้
วรรณะทั้ง 4 นี้เข้าถึงการงานตามที่อ้างมาแต่ละอย่าง
กล่าวกันว่า มหาพรหมผู้มีอำนาจสร้างขึ้นไว้
[907] แม้พวกเทพเจ้าเหล่านี้ คือ ท้าวธาดา วิธาดา
วรุณ กุเวร โสมะ พระยม พระจันทร์ พระวายุ
และพระอาทิตย์ ต่างก็บูชายัญโดยวิธีการต่าง ๆ
และให้สิ่งที่น่าใคร่ทุกอย่างแก่พวกพราหมณ์ผู้สาธยาย
[908] ท้าวอัชชุนะและภีมเสนผู้มีกำลังมาก
มีแขนตั้งพัน ไม่มีใครเสมอเหมือนในแผ่นดิน
ยกธนูขึ้นได้ถึง 500 คัน ก็ได้ทรงบูชาไฟในครั้งนั้น
[909] พี่สุโภคะ ผู้เลี้ยงดูพวกพราหมณ์มาเป็นเวลานาน
ด้วยข้าวและน้ำตามกำลังความสามารถ
มีจิตเลื่อมใสอนุโมทนาอยู่ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[910] พระเจ้ามุจลินท์สามารถบูชาเทวดาคือไฟผู้กินมาก
มีรัศมีไม่ต่ำทรามให้อิ่มหนำด้วยเนยใส
ทรงบูชายัญวิธีแก่เทวดาคือไฟผู้ประเสริฐแล้ว
ได้ไปบังเกิดในทิพยคติ

เชิงอรรถ :
1 มิใช่ของเล็กน้อย หมายถึงยัญและเวททั้งหลายในโลกนี้มิใช่ของเล็กน้อย คือ ไม่ต่ำต้อย มีอานุภาพมาก
(ขุ.ชา.อ. 10/905/52)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :323 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ชาดก [22.มหานิบาต] 6.ภูริทัตตชาดก (543)
[911] พระเจ้าทุทีปะผู้มีอานุภาพมาก
มีพระชนมายุยืนถึง 1,000 ปี มีพระรูปงามน่าดูยิ่ง
ทรงละแคว้นอันไม่มีที่สุดพร้อมทั้งเสนา
เสด็จออกผนวชแล้ว ได้เสด็จไปสู่สวรรค์
[912] พี่สุโภคะ พระเจ้าสาคระทรงปราบแผ่นดินอันมีสาครเป็นที่สุด
รับสั่งให้ตั้งเสาเจว็ดอันงามยิ่ง ล้วนแล้วด้วยทองคำ
ทรงบูชาไฟแล้ว ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[913] พี่สุโภคะ แม่น้ำคงคาที่ไหลไปสู่มหาสมุทรเป็นที่สั่งสมนมส้ม
ย่อมเป็นไปด้วยอานุภาพของผู้ใด
ผู้นั้นคือพระเจ้าอังคโลมบาท ทรงบูชาไฟแล้ว
เสด็จไปเกิดในพระนครของท้าวสหัสสนัยน์
[914] เทวดาผู้ประเสริฐมีฤทธ์มาก เรืองยศ
เป็นเสนาบดีของท้าววาสวะในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
กำจัดมลทินด้วยวิธีโสมยาคะ ได้เป็นเทพเจ้าองค์หนึ่ง
[915] เทพผู้ประเสริฐมีฤทธิ์มียศองค์ใดได้ทรงสร้างโลกนี้
โลกหน้า แม่น้ำภาคีรถี ภูเขาหิมพานต์ และภูเขาวิชฌะ
แม้เทพองค์นั้นก็ทรงได้บำเรอไฟในกาลนั้น
[916] ภูเขามาลาคีรีก็ดี ภูเขาหิมพานต์ก็ดี ภูเขาคิชฌกูฏก็ดี
ภูเขาสุทัศนะก็ดี ภูเขานิสภะก็ดี ภูเขากากเวรุก็ดี
ภูเขาเหล่านี้และภูเขาใหญ่อื่น ๆ ว่ากันว่า
พวกพราหมณ์ผู้บูชายัญสร้างขึ้นไว้
[917] ชนทั้งหลายเรียกพราหมณ์ถือการสาธยาย(เวท)
ผู้เข้าถึงคุณแห่งมนต์ ผู้มีตบะในโลกนี้ว่า
ผู้ประกอบการอ้อนวอนมหาสมุทรซัดท่วมพราหมณ์นั้น
ผู้กำลังตระเตรียมน้ำอยู่ที่ฝั่งสมุทร
เพราะฉะนั้น น้ำในสมุทรจึงดื่มไม่ได้

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 28 หน้า :324 }